สำนักวิชาการจัดการ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่ให้บริการวิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement)
ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ร้านอาหารลันเบอร์เกอร์ อ.ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ นำโดยอาจารย์ฮุชเซ็น นิยมเดชา ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิดา แช่มช้าง และนักศึกษาในหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการการดำเนินงานที่เกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล การเตรียมเอกสาร ขั้นตอน เพื่อยื่นขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล และค่าใช้จ่ายในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจร้านอาหารในอำเภอท่าศาลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ณ ร้านอาหารลันเบอร์เกอร์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับเกียรติจาก คุณอับดุลฟัตตะฮ์ เหร็บควนเคี่ยม อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีประสบการณ์ในการตรวจสถานที่ผลิต และเอกสารคำขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เจ้าของร้านอาหารลันเบอร์เกอร์
โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจร้านอาหารในชุมชนท้องถิ่นมีความรู้พื้นฐานด้านการจัดการการดำเนินงานที่มีคุณภาพมาตรฐานในการผลิต และเพื่อเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลได้ รวมทั้งเพื่อให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากการเรียนไปวางแผน แก้ปัญหา และพัฒนาธุรกิจร้านอาหารในชุมชนท้องถิ่นได้
จากการที่คณาจารย์ วิทยากร นักศึกษาและผู้ประกอบการร่วมกันประชุมเพื่อวิเคราะห์การจัดการกระบวนการร้านอาหารฮาลาลพบว่า ก่อนการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลร้านอาหารจะต้องจัดการเรื่องต่างๆดังนี้
- วัตถุดิบฮาลาล เช่น พืชผัก เครื่องปรุงที่ฮาลาล และเนื้อสัตว์ที่ศาสนาอนุมัติ และ/หรือ เชือดตามศาสนบัญญัติ
- กระบวนการผลิตที่ฮาลาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมการผลิตหรือปรุงจะต้องมีมุสลิม
- การจัดเก็บ/ขนย้าย/ขนส่งฮาลาล โดยผลิตภัณฑ์ทั้งระหว่างกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์สุดท้ายจะต้องไม่ปะปนกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
- อุปกรณ์ ภาชนะฮาลาล จะต้องสะอาด ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ และไม่ใช้ร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ทำให้ร้านอาหารลันเบอร์เกอร์รับรู้ว่าร้านอาหารที่จะได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล จะต้องฮาลาลทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทางร้านจึงประสานกับคู่ค้าที่จัดส่งวัตถุดิบโดยเฉพาะเครื่องแกง และทางหลักสูตรได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการผลิตเครื่องแกงให้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล การเตรียมเอกสาร ขั้นตอน เพื่อยื่นขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลของเครื่องแกงกะชื่น ซึ่งอยู่ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชด้วย
โครงการพัฒนาธุรกิจร้านอาหารในอำเภอท่าศาลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล เป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 4 Quality Education การศึกษาที่เท่าเทียม ตามเป้าประสงค์ที่ 4.3 การเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวชี้วัดที่ 4.3.4 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษานอกมหาวิทยาลัย


