สำนักวิชาการจัดการ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่พัฒนาธุรกิจร้านอาหารในอำเภอท่าศาลา เพื่อเตรียมความพร้อม ในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล ตามแนวทาง SDGs
ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ. 2567
หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ โดยอาจารย์ฮุชเซ็น นิยมเดชา ลงพื้นที่ร้านอาหารลันเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นร้านอาหารตั้งอยู่ที่ หมู่ 15 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อค้นหาโจทย์แนวทางการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเส้นทางอำเภอท่าศาลา
โครงการนี้เริ่มจากนักศึกษาในรายวิชาวิจัยทางโลจิสติกส์ได้เข้ามาเก็บข้อมูลเบื้องต้นที่ร้านลันเบอร์เกอร์ และได้รับรู้ว่าในปัจจุบันการท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนักท่องเที่ยวจำนวนมากแวะรับประทานอาหารในพื้นที่อำเภอท่าศาลา รวมทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมที่เดินทางมาจากมาเลเซียและ 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ที่ต้องการรับประทานอาหารในร้านที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ทางหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลร้านอาหารใน อ.ท่าศาลา พบว่ามีร้านอาหารไม่ถึง 10 ร้านที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล จึงเลือกร้านอาหารที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นต้นแบบเตรียมความพร้อมในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล และมีศักยภาพทางด้านการตลาดในการบริการลูกค้านักท่องเที่ยวมุสลิมที่เดินทางมาจากมาเลเซียและ 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย โดยได้เลือกร้านอาหารลันเบอร์เกอร์ในการพัฒนาในครั้งนี้
เดือนพฤษภาคม 2567 ได้ลงพื้นอีกครั้งเพื่อรับทราบปัญหาในการยกระดับมาตรฐาน และทางร้านอาหารมีความประสงค์ที่จะพัฒนาธุรกิจร้านอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล โดยต้องการเสริมความรู้ในด้านการจัดการการดำเนินงานที่เกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล การเตรียมเอกสาร ขั้นตอน เพื่อยื่นขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล และค่าใช้จ่ายในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล เป็นต้น
ด้วยภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีวิสัยทัศน์ “เป็นหลักในถิ่น” ประกอบกับหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ ที่มีปรัชญา “สามารถประยุกต์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจและการจัดการโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ” คณาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรจึงมีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ร้านอาหารลันเบอร์เกอร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากจะสามารถยกระดับมาตรฐานร้านอาหารแล้ว ยังสามารถเกิดการพัฒนาและแข่งขันได้ในยุคปัจจุบัน และก่อให้เกิดการพึ่งตนเอง และสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังจะนำองค์ความรู้นี้ไปจัดกิจกรรมเฉพาะกิจ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในชุมชนอื่นหรือกลุ่มธุรกิจอื่นในการขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลได้เพิ่มเติม จากการแนะนำของร้านอาหารแห่งนี้
โครงการนี้สอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาแบบยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) อยู่ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม (WU-Social Engagement) ของสำนักวิชาการจัดการ และศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีงบประมาณ 2567
#บริการวิชาการ
#SMWU
#WBSWU
#สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์